Beer ทำให้สุขภาพดี: ชัวว์หรือมั่วนิ่ม
เบียร์กับไวน์ถือเป็นเครื่องดื่มอันสุดหฤหรรษ์ของมนุษย์ชาติ นอกจากนี้มันยังเป็นยาขนานดีที่ได้รับการรองรับจากงานวิจัยทางการแพทย์ เอ้า จงฉลองแด่ชีวิตและสุขภาพของพวกเรา เชียร์ !
ย่างเข้าเดือนตุลาคมทีไร ผมอดนึกถึงเทศกาล OctoberFest ที่ได้ชื่อว่าเป็นเทศกาลเบียร์ที่ใหญ่ที่สุด ในกรุงมิวนิค เยอรมันไม่ได้ทุกที แม้ว่าที่ผ่านมาผมจะได้เพียงแต่ไปแบบเฉียด ๆ เทศกาล OctoberFest ที่กรุงมิวนิค (คือเคยไปตอนหลังเทศกาลประมาณ 1 สัปดาห์) แต่ก็ได้มีโอกาส ไปร่วม Octoberfest ที่จัดเป็นงานจำลองที่ประเทศญี่ปุ่นในแต่ละเมือง เช่นที่ เมือง Odaiba(เรียกว่า Odaibaoctoberfest) และก็มีที่เมืองอื่น ๆ อีกเพียบ เช่นที่ Yokohama เป็นต้น การดื่มเบียร์มันกลายเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติพอฟัดพอเหวี่ยงกับ การดื่มชาของจีน การดื่มไวน์ของฝรั่งเศษ และก็การดื่มกาแฟของชาวอิตาลี่ ไปเสียแล้ว
แน่นอนว่า เมื่อแพทย์ได้ยินคำว่า เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ เราก็มักจะแนะนำคนไข้ว่า อย่าไปดื่มมันเลย เพราะมันนอกเสียจากว่ามันทำให้สมถภาพการขับขี่ยานพาหนะลดลง และก็เสี่ยงเข้าคุกจากระดับอัลกอฮอล์วิ่งพล่านในกระแสเลือดเกินขนาด การดื่มอัลกอฮอล์เป็นเวลานาน ก็จะทำให้ตับแข็งและก็ติดเป็น alcoholism ได้อีกด้วย
แต่ก็นั่นแหละ มันจะเป็นเรื่องของการหาวิธีทางวิทยาศาสตร์ในการตั้งข้อสงสัยและก็พิสูจน์ฟอกให้กิจกรรมที่ผิดเป็นถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่หลักฐานทางการแพทย์ทยอยออกมาให้คอเบียร์โห่ร้องตีปีกพับ ๆ (หาเรื่องดื่ม) ว่า เบียร์ มันไม่ได้แย่หรอก แต่มันเป็นดั่งน้ำอมฤต ที่ช่วยให้สุขภาพยืนยาวได้
ตกลง ดื่มเบียร์ สุขภาพดี ชัวว์หรือมั่วนิ่ม กันหว่า?
"เบียร์ช่วยลดอัตราการเกิดโรคและเสียชีวิตของโรคหลอดเลือดหัวใจ"
อันนี้มีรายงานจากงานวิจัยหลายฉบับ ต่างก็ประสานเสียงว่า การดื่มเบียร์ในปริมาณที่พอเหมาะ (Moderate alcohol intake) จะช่วยทำให้ กระบวนการเผาผลาญ lipoprotein ซึ่งเป็นไขมันเลวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สาร phenolic compound ในเบียร์ (ซึ่งก็มีใน red wine เช่นกัน) จะมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ทำให้ป้องกันหลอดเลือดอุดตันที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจ นอกจากนี้ยังมีสารประกอบอื่น ๆ ที่มีประโยชน์อีกเช่น benzoic, cinnamic acid, catechins, procyanidins, humulones
"เบียร์ช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งหลายชนิด"
จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง การดื่มเบียร์จะลดปัจจัยหรือสารก่อมะเร็ง (carcinogen) ซึ่งเชื่อว่า ในเบียร์มีส่วนประกอบที่นอกเหนือจาก alcohol ที่ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ (คือ อีสาร อนุมูลอิสระนี่ มันทำให้เกิดความผิดปกติต่อการเจริญของเนื้อเยื่อที่ทำให้เกิดมะเร็งได้) ส่วนประกอบที่ว่า มันเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดรสขม (hop) ของมันหนะแหละ Hop (Humulus lupulus L.) เป็นส่วนประกอบของเบียร์ที่เป็นแหล่งของสารที่สำคัญคือ phenolic compound ด้วย มะเร็งมีหลักฐานในการลดนี้ได้ประโยชน์ทั้งหญิงและชาย ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งหลอดอาหาร
นอกจาก ประโยชน์ที่ว่ามา ยังมีประโยชน์อีกได้แก่ ลดอัตราการเกิดโรคเบาหวาน ลดอัตราการเกิดโรคกระดูกพรุน อีกด้วย
มีคนบอกว่า เบียร์ มันทำให้ความคิดสร้างสรรค์ดีขึ้น นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งสินะ ที่ทำให้ นักสร้างสรรค์ มันเป็นนักดื่มตัวยงด้วย
เบียร์ ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ดีขึ้นจริงหรือเปล่า ผมคิดว่า ต้องดูว่า อะไรเป็นไก่ อะไรเป็นไข่ คือ จริง ๆ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ส่วนใหญ่มันมีพฤติกรรมที่ชอบพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง และการดื่มเบียร์ก็เป็นหนึ่งในพิธีกรรมเท่านั้น หรือ จริง ๆ แล้ว การดื่มเบียร์มันมี positive effect ในการ boost พลังสร้างสรรค์ของสมองมากยิ่งขึ้นกันแน่
ในมุมมองของผมเอง ผมว่ามันเป็น two way คือเป็นได้ทั่ง 2 ทาง การดื่มเบียร์ที่ทำให้สมองมึนตื้อเล็กน้อย ส่วนที่เป็น alcohol จะไปกดสมองส่วนที่มีการคิดเป็นตรรกะมากๆ ออกไปทำให้เกิดการปลดปล่อยสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ การสร้างสรรค์ การคิดใหม่ ความร่าเริง ออกมา คือจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่แต่เบียร์หรอก แต่ เครื่องดื่ม หรือ สารเสพติดมึนเมา ทุกชนิดมันก็มีฤทธิ์แบบนี้หมดหนะแหละ สังเกตเอาจาก ศิลปิน เวลาจะวาดรูป นักแต่งเพลงเวลาจะเขียนบทเพลงดี ๆ เข้าถึงอารมณ์ได้ ก็อาจต้อง build อารมณ์กันสักหน่อย นอกจากนี้มันก็ทำให้การแลกเปลี่ยนทัศนะคติระหว่างหมู่เพื่อนกันเองเป็นไปด้วยความราบรื่นขึ้น
แหม ! บทความนี้ช่าง Pro เบียร์เสียเหลือเกินนะ
ข้อเสียของการดื่ม มันก็มี แน่นอน การดื่มเครื่องดื่มที่มี alcohol หากดื่มมากไป มันก็จะทำให้ตับไม่ดี แต่นานไป ตับก็แข็งได้ นอกจากนี้ หากดื่มในปริมาณมากจนติดหนึบหนับละก็ สมองส่วน ซีรีเบลลัมจะฝ่อ ไป ทำให้การทรงตัวไม่ดี
มี short documentary มาฝาก
มาถึงตอนนี้ มีคนถามมามากว่า ดื่มเท่าไหร่ดี
จากการแนะนำขนาดที่ดื่ม คือ เบียร์ หนึ่ง ถึง สองแก้วนะจะเป็นขนาดที่พอเหมาะพอควร พอเมา พอมึน ไม่ได้เป็นอันตราย และอาจมีผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย แต่ขอร้อง อย่าขับรถขณะมึนเมาละกันครับ อันนี้ เกิดอุบัติเหตุ ไปเฝ้ายมบาลก่อนเห็นผลของเบียร์ต้านมะเร็งแน่ ๆ
Reference
1. Beer and health: preventive effects of beer components on lifestyle-related diseases. (http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15630301)
2. Alcoholic Beverage Preference, 29-Year Mortality, and Quality of Life in Men in Old Age (http://biomedgerontology.oxfordjournals.org/content/62/2/213.long)
3. Wine, Beer, Alcohol and Polyphenols on Cardiovascular Disease and Cancer (http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3407993/)