surat tanprawate

View Original

ทฤษฎีความฉลาดและความฉลาดที่ถูกบดบัง

ความฉลาดคืออะไร

หลายๆ คน อยากเป็นคนฉลาด เพราะคนฉลาด มีโอกาสก้าวหน้าในขีวิต มีหน้าที่การงานที่ดี ประสบความสำเร็จ และแน่นอนว่ามันก็จะส่งผลไปสู่ความมั่งคั่ง ทั้งส่วนตัว ครอบครัว และสถานะทางสังคม

เมื่อเรากล่าวถึงความฉลาด เราก็คงคิดถึง วิธีที่จะพัฒนาให้เรามีความเก่งและฉลาดขึ้น ซึ่งก็คือระบบการศึกษานั่นเอง แต่เป็นที่น่าเศร้าว่า ในขณะที่เราพยายามในการคิดระบบการพัฒนาให้มนุษย์เกิดความฉลาดมากขึ้น แต่ระบบในปัจจุบัน ก็ยังจมปลักกับรูปแบบของการพัฒนาความฉลาดเพียงด้านเดียว ด้วยรูปแบบเหมือนๆ กัน

Sir.Ken Robinson นักพัฒนาระบบการศึกษา นักคิดและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ได้กล่าวว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบัน คือภัยอันร้ายแรงที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์โดยการตีกรอบมุ่งเน้นสร้างความฉลาดเพียงด้านเดียวและละเลยความฉลาดด้านอื่นที่ใช้ในการดำรงค์ชีวิต ทั้งยังมุ่งวัดผลที่เป็นกับดักทางการศึกษาที่เราก็เห็นผลลัพย์อยู่แล้วว่า มันล้มเหลวในบริบทปัจจุบัน

การศึกษาปัจจุบันและการวัดนี้ เป็นผลพวงของยุคที่มีการเร่งเร้าการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ผ่านการทดลองและแสวงหาความรู้ใหม่ โดย Sir. Ken Robinson ได้กล่าวในหนังสือ “The Element: How Finding your Passion Change Everything” ว่า “ธาตุ (Element)” ที่เป็นคุณสมบัติโดดเด่นเฉพาะตัวของคนคนนั้น ได้ถูกกรอบการศึกษากดทับ

เมื่อการศึกษา เป็นการตีกรอบความฉลาดด้านอื่นๆ แล้วความฉลาดด้านอื่นนั้นคืออะไรกันหละ

จากทฤษฎีของ Robert J. Sternberg นักจิตวิทยา ได้แบ่งความฉลาดออกเป็น 3 ส่วน ตามทฤษฎี Triarchic Theory of Intelligence” ได้แก่

  1. ความฉลาดด้านการวิเคราะห์ (Analytical Intelligence) : เป็นความฉลาดด้านข้อมูล การใช้ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งสามารถทดสอบได้จากการทดสอบ IQ และ เป็นความฉลาดที่เราคุ้นเคยจากการสอน และการสอบวัดผลในห้องเรียน มักเป็นความฉลาดเฉพาะด้าน บางคนเรียกเป็น “Professional intelligence”

  2. ความฉลาดด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative intelligence) ความฉลาดด้านความคิดสร้างสรรค์ เป็นความฉลาดในการคิดใหม่ คิดประยุกต์ การปรับตัว การเชื่อมโยงมุมมองในแนวขวาง ผนวกข้อมูลจากหลายภาคส่วนและก่อให้เกิดการแก้ปัญหาหรือแสดงมุมมองใหม่ๆ ความฉลาดด้านนี้มักแสดงออกมาทาง “Creative and Innovation Ideas ไอเดียในการสร้างสรรค์และการผลิตนวัตกรรม”

  3. ความฉลาดในทางปฎิบัติ (Practical Intelligence) คือ ความฉลาดในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์จริง โดยสามารถโต้ตอบกับการใช้ปัญญากับชีวิตประจำวันได้ ได้แก่ การปฎิบัติงาน การสั่งงาน การแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน การตัดสินใจเฉียบพลัน ซึ่งก็คือความฉลาดในการบริหารจัดการการใช้ชีวิตและการงาน

แต่ละคน มีความฉลาดในแต่ละด้านไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกิดมาแต่กำเนิด (innate) และสิ่งแวดล้อม (environment)

เพียงแต่เราต้องมีช่องทางในการปะทุความฉลาดของเรา ตามธาตุของตัวเรา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง