surat tanprawate

View Original

มองกว้างอย่างนวัตกร : The Wide Eye and the Blind Spot

คุณเคยได้ยินอัตราการล้มเหลวของนวัตกรรมที่ผลิตออกมา ที่มากถึง 70-90% โดยเฉพาะตลาด Health Innovation ก็อาจสงสัยว่า มันเป็นไปได้อย่างไร ที่มีการผลิตนวัตกรรมออกมา ซึ่งหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ก็ออกมาจากเจ้าตลาดขนาดใหญ่ ที่ไม่คิดว่า จะล้มเหลวได้

แม้ว่า หลาย ๆ คนจะบอกว่า การล้มเหลวนี้คือประสบการณ์ แต่ไม่มีใครที่ตั้งเป้าไว้ว่า เมื่อพัฒนาของออกมาแล้ว จะให้มันล้มเหลวและแน่นอนมันมีค่าใช้จ่ายมหาศาล โดยเฉพาะบาง product ที่กว่าจะใช้เวลาวิจัยพัฒนาให้ออกสู่ตลาดได้ก็นานหลายปี ยิ่งกว่านั้น อาจสูญเสียอำนาจในการแข่งขันของตลาดให้กับคู่แข่ง

การพัฒนา product แม้ว่าจะเริ่มต้นด้วย การพัฒนาจากไอเดียอันยอดเยี่ยม การวางแผนธุรกิจเป็นอย่างดี และมีตลาดที่ต้องการ แต่ก็ยังไม่วายเสี่ยงต่อการล้มเหลวสูงอยู่ดี หรือ มันมีปัจจัยที่มากกว่านี้ที่เรามองไม่เห็น

ในหนังสือ The Wide Lens : A New Strategy for Innovation โดย Ron Adner ได้กล่าวถึง Blind Spot หรือ จุดบอด ที่นวัตกรมองข้ามและมันก็ทำให้เกิดปัญหาจนเอา product ที่พัฒนาวางไว้บนหิ้ง เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา (เสียหน้าอีกต่างหาก)

Adner กล่าวว่า สาเหตุมันเกิดจากที่ เราโฟกัสแคบเกินไป (Our focus is generally too narrow) เราสนใจไปที่การพัฒนา product ของเรา ทั้งตัว product และ ตัว process แต่เราไม่ได้มองไปยังผู้เล่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดเส้นทางเดินของผลิตภัณฑ์ของเราก่อนถึงมือผู้บริโภค

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

บริษัท Michelin ได้พัฒนา Run flat tire ล้อที่เมื่อถูกตะปูตำ แต่ก็ยังวิ่งได้ทั้งที่มันแบนแต๊ดแต๋อีกกว่าหลายร้อยไมล์

นั่นแหละ ฟังดูเข้าท่าใช่ไหมหละ อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Run flat tire มันต้องการขอบพิเศษ ที่แยกตัวจากล้อ และต้องทำชิ้นส่วนที่แยกออกจากโรงงานผลิตล้อ นอกจากนี้ ก็ยังต้องการ service network ในการซ่อมบำรุงมหาศาล และการ train พนักงานให้มีทักษะที่ใช้อุปกรณ์ที่เฉพาะและพิเศษก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อนวัตกรรมถูกผลิตออกมา สิ่งที่ต้องรองรับ ไม่ใช่แค่ผู้ใช้ แต่เป็น ระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ในการใช้และประสานงานในการใช้งานนวัตกรรม

Micheline ล้มเหลว เพราะขาดความตระหนักถึง คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า (Value Proposition) ที่ต้องถูกรองรับด้วย Ecosystem ของตลาดล้อยาง และนี่คือ จุดบอดที่มองไม่เห็น ของผู้พัฒนานวัตกรรม

Adner ได้กล่าวไว้ว่า

“(it) is no longer enough to mange your innovation. Now you must manage your innovation system”

“มันไม่เพียงพอที่คุณจะมีกระบวนการจัดการนวัตกรรมของคุณที่ดีเท่านั่น คุณต้องบริหารจัดการระบบนิเวศน์นวัตกรรม ecosystem ของนวัตกรรมของคุณด้วย”

และนี่คือส่ิงที่จะปิดความเสี่ยงให้กับการทำนวัตกรรม หรือ เราต้องมองให้ “กว้างขึ้น”

Identifying the risk

การเรียนรู้เรื่อง ความเสี่ยง คือสิ่งที่จะทำให้เกิดความล้มเหลวที่ยอมรับได้ และน้อยที่สุด

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับการออกสู่ตลาดของนวัตกรรมประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่

  1. ความสามารถของคุณในการสร้างสินค้า และ การให้บริการ (Your ability to create the actual product or service หรือ “Executive risk”)

  2. การพึ่งพาหรือการต้องทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการนวัตกรรมอื่น ๆ (the reliance on and interdependence of other innovations หรือ “co-innovation risk”)

  3. การมีส่วนร่วมของพันธมิตรที่ต้องการนำนวัตกรรมของคุณไปส่งต่อให้กับลูกค้าและผู้ใช้งาน (the involvement of partners who need to adapt and adapt to your idea before it can be offered to the end-user หรือ “adoption chain risk”)

ตัวอย่างของ Co-innovation risk สำหรับวงการพัฒนา Health Tech เช่น การพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีของเรา แล้วต้องนำไปทำงานร่วมกับระบบ Hospital system ของโรงพยาบาล ในด้านการส่งต่อข้อมูล ความปลอดภัย และการเข้ากันได้ของระบบ

ปัญหาในความร่วมมือ หรือ adoption chain risk ก็ยังเป็นปัญหาของ Health Tech Startup ไทย เมื่อต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะทางรัฐบาล

การมองกว้างที่ท้าทายคือ การต้องมีกระบวนการพัฒนาความสัมพันธ์ และ จับมือกับพันธมิตร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยพันธมิตรในการส่งมอบการใช้งานต่อไปยังลูกค้า โดยต้องชี้ให้เห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับ เมื่อได้เข้ามาใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา

ในโลกที่มีการเชื่อมต่อกัน นักนวัตกรรม ต้องค้นพบพันธมิตรและผู้ที่เกี่ยวข้องและรักษาความสัมพันธ์และมองคุณค่า ให้แก่เค้าเสมือนเป็นลูกค้า end user

นักนวัตกร ต้องเข้าใจยังจุดบอดที่มองไม่เห็น และตระหนักว่า การพัฒนานวัตกรรม เราทำงานแบบ silo ไม่ได้ และเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์นวัตกรรมที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน และรู้ว่า บทบาทของเราในระบบนิเวศน์คืออะไร