surat tanprawate

View Original

Fragmented Care สุขภาพถูกดูแลแบบแยกส่วน

Link >> https://www.singhealth.com.sg/news/regional-health-system/improving-the-healthcare-system-part-2-plugging-the-gaps

เราถูกจับแยกส่วนดูแล

แล้วหมอ เค้าก็ไม่ได้คุยกันนะ

✅ เจอหมอเบาหวาน

ป้าขอยาปวดเข่าหน่อย

เดี๋ยวส่งหาหมอเข่านะป้า

✅ เจอหมอเข่า

เอ้า ปวดเข่าแบบนี้ เส้นประสาทไม่ดี เจอหมอสมองและระบบประสาทนะป้า

✅ เจอหมอสมอง

ป้าปวดเข่า แบบนี้ เส้นประสาทไม่ดีจากเบาหวานนะป้า

หมอต่อมไร้ท่อ

อ้าว ป้า มาหาทำไมอะ

ป้าปวดเข่า คะหมอ

อ้อ ไปหาหมอเข่านะป้า

🚀🚀🚀>> หมอแต่ละคน ดูแยกส่วน ไม่ได้รู้ข้อมูลต่อกันเลย

สวัสดี ระบบรักษาแยกส่วนของไทย วันหลัง ถอดหัวไปรักษาคนนึง ถอดเข่าไปรักษาคนนึง ท่าจะดี

อจ. สุรัตน์ มาเล่าให้ฟัง โดนรักษาแบบนี้ทำไงดี

การดูแลสุขภาพ หรือ ที่เรียกว่า healthcare นี่มีความสำคัญมาก เพราะมันเป็นหนึ่งในพื้นฐานของทรัพยากรมนุษย์ ทุกวันนี้มีปัญหาของระบบสุขภาพมากมากให้แก้ไข ทั้งที่เห็นเป็นประจำอย่างเรื่องคิวตรวจอันยืดยาว ที่ยังเป็นปัญหาที่พบเห็นอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะใน รพ รัฐ การวินิจฉัยโรคที่ล่าช้า หรือแม้แต่การเข้าถึงการรักษาและการกระจายความเท่าเทียมการรักษา

วันนี้เราจะพูดถึงหัวข้อที่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในโลกที่มีการพูดถึงนวัตกรรม การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือกลุ่ม new venture อย่าง startup ที่มุ่งเปลี่ยนโลก วันนี้จะมาคุยเรื่อง “Fragmented Care” หรือ “การดูแลสุขภาพแบบแยกส่วน”

Fragmented care เป็นคำที่ฟังดูเหมือนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศัพท์แสงทางการแพทย์ที่ใช้ในหมู่นักบริหารนโยบาย แต่จริงๆ แล้วมันเป็นปัญหาที่เผชิญอยู่ทุกวัน มันเป็นปัญหาด้านการบริหารจัดการ มันเป็นปัญหาของการรักษาแบบแยกส่วน ทั้ง ๆ ที่ต้องรักษาคนคนเดียว และมันก็ก่อให้เกิดผลกระทบแต่ไม่ค่อยมีใครมองเห็น เหมือนฝุ่นที่ขนตาของเรานั่นแหละ

Fragmented care คืออะไร? หากโดยนิยาม มันคือการทำงานในการดูแลสุขภาพ ซึ่งหากจะระบุเป็นคนก็คือการบวนการรักษาคน หากระบบเป็นระบบ คือปัญหาของการจัดการระบบ ที่มีการทำงานเป็นส่วน ๆ แยกจากกัน ในการดูแลผู้ป่วย หรือ ทำงานเป็น silo นั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือ มันคือการที่ผู้ให้บริการด้านการแพทย์ไม่ได้ทำงานประสานงานและติดต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ไม่ปะติดปะต่อและมักจะซ้ำซ้อน

ลองดูตัวอย่างเพื่ออธิบายประเด็นนี้ สมมติว่าคุณเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน คุณมีแพทย์ทั่วไป ที่ดูแลคุณอยู่เป็นประจำ แต่คุณยังพบผู้เชี่ยวชาญสำหรับการจัดการโรคเบาหวานของคุณ นักโภชนาการสำหรับคำแนะนำด้านอาหาร และเภสัชกรสำหรับการจัดการยา ผู้ให้บริการเหล่านี้แต่ละรายทำงานโดยอิสระ และอาจไม่สามารถสื่อสารระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความสับสน การทำงานซ้ำซ้อน และการขาดการประสานงานในการดูแลของคุณ เสมือนข้อมูลที่ได้มันคนละชุด

Health Care or Disease Care ดูแลสุขภาพ หรือ ดูแลโรค กันแน่

วิทยาการทางการแพทย์ได้พัฒนาอย่างยิ่งในศตวรรษหลัง โรคที่รักษาไม่หายเราก็ทำให้หายได้ อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามมีข้อเสีย วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ลงลึกไปยังแนวทางของการค้นคว้าวิจัยเชิงลึก ได้แผร่ขยายบริบทของความรู้และการดูแลสุขภาพออกไปยังแต่ละโรค ซึ่งนำไปสู่วิธีการเรียนรู้ลึกเฉพาะโรค ในแนวทางนี้ มนุษย์คือกลุ่มของเซลล์ อวัยวะ และ/หรือโรคต่างๆ โรคหมายถึง 'ความผิดปกติของร่างกาย' การดูแลสุขภาพจึงกลายเป็นการดูแลเรื่องโรค คือ “การซ่อมแซม” ร่างกาย การเกิดขึ้นของการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญทำให้ผู้คนมุ่งความสนใจไปที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตนเองและมองไม่เห็นภาพรวม

ความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคทำให้เราจัดระเบียบความต้องการของผู้ป่วยแยกกัน ผู้ที่มีปัญหาซับซ้อนหลายอย่างต้องผ่านการดูแลหลายวิธี คนไข้ของหมอ หลาย ๆ คนมีปัญหาเกิน 3 อวัยวะ ไปหาหมอ 4-5 คน ได้รับยาของแต่ละคน และหมอแต่ละคน คุยเหมือนไม่ได้ดูแลคนไข้คนเดียวกัน แนวทางการรักษาคนเดียวกันแต่ก็ไม่อาจสอดคล้องกันเสมอไป โดยเห็นได้จากสิ่งที่ผิดพลาด

Fragmented care ทำให้การดูแลที่เหมือนจะลึกและดีที่สุด กลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการดูแลที่ไม่สมบูรณ์ โดยมาจากหลายสาเหตุ ความเฉพาะทางของกลุ่มผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ลงลึกของเรื่องตัวเองก็เป็นสาเหตุหนึ่ง นอกจากนี้ แพทย์ที่ดูแลเฉพาะโรคนั้น  ๆ จะมีความรู้สึกว่า โรคอื่น ที่อยู่ในตัวคนเดียวกัน ไม่ใช่หน้าที่ของฉัน หรือเป็นการดันความรับผิดชอบออกนอกตัว ปัจจัยเรื่องเวลาก็คงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ยังแก้ได้ยาก เพราะแพทย์ต้องลงทุนเรื่องเวลาในการดูและส่งต่อข้อมูล

แล้วเราในฐานะคนไข้ หรือ ผู้ดูแลคนไข้ เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร?

การประสานงานโดยลดขั้นตอนในการเสียเวลา เป็นทางออกที่ดี โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ด้านนวัตกรรมเป็นตัวเชื่อม

คนไข้สร้างตัวเชื่อมขึ้นเอง

ในระบบ health care ที่เทคโนโลยียังไม่เอื้อ เราในฐานะคนไข้ อาจต้อง เก็บรวบรวมข้อมูลของทุกคนเอง

มันก็ออกจะประหลาดสักนิด ทำไมให้คนไข้เป็นผู้รับผิดชอบวะ ก็ในเมื่อมารักษา ใน รพ แล้วหมอ ไม่ดูประวัติกันเหรอ

อันนี้จริง ๆ เค้าก็ดูประวัติกันแหละ แต่ด้วยเวลาที่จำกัด กับปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมาก หากมีการจดบันทึกแบบเป็นระบบคนไข้ก็จะดี

มีป้าคนนึงรักษาหมอ 5 คน แกก็เอามารวมเป็นเป็นแฟ้มเสียเป็นระเบียบ มีวันเวลา ยากำหนด เรียบร้อย คนรักษาก็ดูง่าย

การจัดการด้วย technology

ตอนนี้ หลาย ๆ โรงพยาบาลเริ่มทำการเชื่อมข้อมูลใน รพ กับ Line หรือ app อื่น ๆ ของคนไข้แล้ว อันนี้ก็มีประโยชน์แม้ว่ายังไม่ได้ตอบโจทย์โดยสมบูรณ์ก็ตาม

การใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงการสื่อสารและการประสานงานระหว่างผู้ให้บริการ ตัวอย่างเช่น บันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์สามารถอนุญาตให้ผู้ให้บริการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย ลดความซ้ำซ้อนของความพยายามและปรับปรุงการประสานงานการดูแลโดยรวม อีกแนวทางหนึ่งคือการใช้รูปแบบการดูแลตามคุณค่า ซึ่งจูงใจผู้ให้บริการให้ทำงานร่วมกันเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่มีคุณภาพสูง

อย่างไรก็ตาม การพัฒนานวัตกรรมโดยการใช้ Electronic Medical Record ต้องได้รับการออกแบบ ให้เกิดความเหมาะสมและเข้าใจง่าย แก่ผู้ร่วมงาน ส่วนนี้ อาจต้องอาศัยทั้งความรู้เฉพาะของโรคและความรู้เรื่องการออกแบบทั้งกระบวนการและรูปลักษณ์

หนึ่งในวิธีการออกแบบให้เกิดกระบวนการลด Fragmented care คือการเดินตามรอยการรับบริการของคนไข้ หรือ Pateint’s journey เพื่อดูกระบวนการและจุดที่รับบริการหรือ touch point นอกจากนี้ ต้องมีการรวบรวมบรรดา ผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มาเป็นส่วนคำนึงถึงการออกแบบด้วย

การกระจายเป็นเสี่ยง ๆ ของการดูแลแบบแยกส่วน เป็นอุปสรรคหนึ่งในการทำให้การรักษาไม่บรรลุเป้าหมาย การแก้ไขเรื่องนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นจริง ๆ ครับ