Internet, Plasticity, and the Shallow brain

Added on by Surattanprawate.
index.jpg

ในทุกวันนี้ เราใช้เวลาในการเล่น internet มากกี่ชั่วโมง บางคนบอก 1 ชั่วโมง บางคนบอก 2 ชั่วโมง บางคนบอก uncountable เพราะ มีการเล่นเป็น หย่อม ๆ เป็น puzzle เพราะว่าสมัยนี้ เข้า internet เพื่อโหลดข้อมูลเข้าสมองมันง่ายยิ่งกว่า ปลอกกล้วยเข้าปากเสียอีก หลังจากเข้าสู่ยุค handheld surfing ก็ทำให้มีการฆ่าเวลาโดยการนั่งเล่น internet ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เห็นกันจนชาชินกับการเห็นคนนั่งยิ้มหน้าโทรศัพท์มือถือ มากกว่า ยิ้มให้คนที่อยู่ตรงหน้า แต่ผมประมาณการณ์ว่า มีการเล่น internet (รวมการเข้า web, facebook, check mail, Line, Instagram, etc.) มากเกิน 1 ชั่วโมง/คน/วัน

โลกแคบลง สั งคมกว้างขึ้น สะดวกหาความรู้ ติดต่องานง่าย ทำธุรกิจคล่องตัว ติดตามข่าวสารทันสมัย และอีกหลายเหตุผลที่จะอธิบายประโยชน์ของการเข้าถึงข้อมูลผ่านเครือข่ายใยแมงมุม หากแต่เดี๋ยวก่อน คุณรู้สึกอะไรไหม รู้สึกเหมือนกับที่ผมรู้สึกไหม รู้สึกว่าพฤติกรรม นิสัย การคิด ความรู้สึก การยับยั้งชั่งใจ การอ่าน สมาธิ ของเราเปลี่ยนไปไหม ผมว่าหลายคนบอกว่าใช่ อีกหลายคนบอกไม่แน่ใจ เพราะการสังเกตตัวเอง มันไม่ง่ายเหมือนการสังเกตคนอื่นนี่นา อยากบอกว่า ผมรู้สึก กับ life style ของผมเปลี่ยนไปจากเมื่อสมัย 5-6 ปีก่อน จากคนชอบอ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ จากที่เคยนั่งคิดนั่งเขียนบันทึกประจำวัน (diary) ได้เป็นชั่วโมง ๆ นั่งพิเคราะห์รูปภาพอย่างมีสมาธิได้่นาน ๆ มาเป็นนั่งเล่น internet, check mail, update facebook เวลาว่าง เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่าตัวเองอ่านหนังสือได้ไม่ถึง 3 หน้าก็เบื่อ ไม่มีสมาธิ ความจำสั้นลง (poor concentration) ความรู้กว้างแต่ไม่รู้ลึก (broad, but superficial)  อารมณ์ไม่ค่อยคงที่ (emotinal instability)

ตอนแรก ๆ ก็ไม่ค่อยได้แอะใจอะไร แต่หลัง ๆ นี้ มันเริ่มมีอาการมากขึ้น และความรู้ก็กระจ่างเมื่ออ่านงานเขียนของ Nicolas Carr เรื่อง The Shallows: What the Internet Is Doing to Our Brains ผนวกกับความเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาทของตัวเอง ก็เริ่มรู้สึกตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง มนุษย์และสังคม

งานเขียนของ Nicolas Carr ได้เน้นความตระหนักรู้ถึงอิทธิพลของ การเล่น internet ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วิธีคิด และการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในระดับการทำงานของสมอง ลงไปถึงระดับของเซลล์ประสาท (neurons) ผ่านข้อเท็จจริง เรื่อง neuroplasticity ของสมอง

นักประสาทวิทยา Alvaro Pascual-Leone ได้กล่าวว่า "Plasticity" is the normal ongoing state of the nervous system throughout the life span. 

Neural plasticity หรือกระบวนการปรับตัวของเซลล์ประสาท: เป็นข้อเท็จจริงของเซลล์ประสาท และสมองของมนุษย์ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอก ที่มีผลต่อระบบประสาท (plasticity หมายถึง ความยืดหยุ่น ซึ่งรวมถึงการปรับตัว)  

เช่น เมื่อมนุษย์เผชิญกับภาวะเครียด และภาวะบีบคั้น เซลล์ประสาทและสมอง ก็จะมีการปรับตัวให้เกิดความทนทานต่อภาวะนั้นเมื่อเวลาผ่านไป , เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการบาดเจ็บ ที่มีอาการปวดที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกายเรื้อรัง สมองก็มีการแปลงสัญญาณความเจ็บปวดให้มีสัญญาณที่อ่อนลง เป็นต้น  

ในคนปกติ มนุษย์ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมองแบบ plasticity ทั้งโดยการตอบสนองของสิ่งแวดล้อมและต่อการกระทำหรือพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการกระทำที่ทำซ้ำ ๆ หรือ ทำเป็นกิจวัตร  

จากการศึกษาโดยการเอ็กซเรย์สมองของคนขับ Taxi ในกรุงลอนดอน พบว่ามีขนาดของสมองส่วน hippocampus ใหญ่กว่าขนาดของคนขับรถ Bus ซึ่งสมองส่วน hippocampus เป็นสมองส่วนที่เก็บความจำที่ซับซ้อน นั่นแสดงว่า สมองของคนขับ Taxi ในลอนดอนที่มีการใช้การจดจำถนนหนทางที่ซับซ้อนได้รับการกระตุ้นและใช้งานอย่างต่อเนื่องจนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างให้ขนาดใหญ่กว่าปกติ (Maguire, Wool­lett, & Spiers, 2006) ซึ่งปรากฎการณ์นี้ ก็เกิดเฉกเช่นเดียวกับสมองของผู้ที่พูดได้สองภาษา (bilinguals) ซึ่งมีขนาดของสมอง parietal lobe ด้านซ้ายที่ใหญ่กว่าผู้ที่พูดได้ภาษาเดียว (monolinguals

นั่นแสดงว่า พฤติกรรม หรือสิ่งแวดล้อมที่ได้กระทำทุกวัน แบบซ้ำ ๆ มีผลในการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่นิสัยเท่านั้่น แต่ยังมีผลเปลี่ยนแปลง ไปถึงระดับโครงสร้าง และ ยิ่งกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ หากมีเวลาที่นานพอ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปถึงระดับเซลล์ ระดับยีนซึ่งอาจถ่ายทอดไปทางพันธุกรรมได้

  ในปัจจุบันคงไม่มีใครเถียงได้ว่า พฤติกรรมที่หลาย ๆ คนทำกัน หรืออาจเรียกได้ว่า พฤติกรรมเสพติด ได้แก่ การเล่นอินเตอร์เนต หรือ การเข้า social media เช่น facebook, twitter, google จุดประสงค์เพื่อเสพความรู้ เพื่อการติดต่อ หรือ กิจการอื่น ๆ จากเคยเล่นบางเวลาทุกวัน เป็นวันละหลายชั่วโมง เป็นทุกชั่วโมง และแน่นอน ยิ่งบ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ

การหาข้อมูลทาง internet

การ เข้าหาข้อมูลใน internet เป็นการหาความรู้ได้อย่างรวดเร็ว และ กว้างกว่าการหาความรู้ในสมัยก่อนซึ่งต้องใช้เวลาในการอ่านหนังสือ ใช้เวลาในการย่อยข้อมูล  

อย่างไร ก็ตามการหาข้อมูลทาง internet เป็นการหาข้อมูลที่มีกระบวนการหาความรู้ที่มีการ skim และ scan ข้อมูลโดยที่ข้อมูลต่าง ๆ ที่ไหลบ่าเข้าสมองนั้น ไม่มีในมิติของความรู้เชิงลึก ซึ่งต่างกับการอ่านหนังสือที่มีการใช้สมาธิและการจิตนาการที่สูง

หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า กระบวนการหาข้อมูลและความรู้จาก internet เป็นการหาความรู้ที่ "Greater access to knowledge is not the same as greater knowledge."

หรือเรียกได้ว่า "รู้รอบแต่ไม่รู้ลึก"  ซึ่งเมื่อมีการกระทำซ้ำ ๆ สมองในเชิงหน้าที่และในเชิงโครงสร้างจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบถาวรได้ ซึ่งทำให้กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆเปลี่ยนไปเป็นแบบลวก ๆ ไม่มีความถี่ถ้วน ไม่มีการวิเคราะห์ในเชิงลึก และมีสมาธิสั้น ที่สำคัญการหาความรู้ใน internet ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ ที่มากมายมหาศาลทำให้สมองเกิด ภาวะ hunger หรือ ภาวะสมองหิวข้อมูล ทำให้เกิดการเสพติดข้อมูลเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความรู้เหล่านั้น เป็นความรู้ที่ไม่ใช้ความรู้เชิงลึก

Facebook

  ส่วนการติดต่อ การตอบสนอง การมีตัวตน หรือการแสดงตัวตนทาง facebook ก็เป็นช่องทาง online ที่ทำให้มีความสะดวกในการติดต่อกัน การตอบสนองทางอารมณ์และพฤติกรรม อย่างรวดเร็วและถึงลูกถึงคน

 สมองและพฤติกรรมที่ได้กระทำในการใช้  facebook ได้แก่

- การตอบสนองที่รวดเร็ว จนทำให้บางคร้ั้งต้องยอมรับว่า ตอบสนองแบบใช้ reflex หรือ ยังมิทันได้ไตร่ตรองเลยว่าเข้าในสิ่งที่เราอ่านหรือดูหรือไม่ แต่ กด "Like" แล้ว  

- การตอบโต้ผ่าน "keyboard" ที่ใช้อารมณ์มากว่าการกลั่นกรองทางความคิดว่า สิ่งนั้นควรตอบหรือไม่ เรียกได้ว่า "เป็นการสื่อสารที่ใช้อารมณ์ มากกว่าสมอง" 

- การแสดงตัวตน ที่บางครั้งไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เป็นตัวตนที่อยากให้คนอื่นเห็น เรียกง่าย ๆ ว่าอาจเป็น "Fake"  

สมองที่ถูก train จากการเล่น facebook ซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ คืออะไร 

 คือการกลายเป็นพฤติกรรมที่ ตอบสนองที่ใช้อารมณ์ มากกว่าความคิด และ พยายามสะท้อนด้านบวกของตัวเอง

เขียน มาทั้งหมดนี้ มิใช่ว่า ต้องการบ่นกร่นด่า ว่าเป็นคน anti-new technologies เพียงแต่เอาประสบการณ์ส่วนตัวที่เป็นการสังเกตตัวเองและเริ่มพบการ เปลี่ยนแปลงของตัวเอง และ หลาย ๆ คนที่พบมาเล่าให้ฟังเป็นการเตือนใจ ว่าการ technology เป็นสิ่งที่ดี หากใช้แต่พอดี และ ไม่ควรละเลยการอ่านหนังสือ การพูดคุยกัน ติดต่อกัน ในโลกแห่งความเป็นจริง  และเงยหน้ามาคุยกันกับคนที่อยู่ข้างหน้าบ้างก็เท่านั้นเอง