มีคนกล่าวไว้ว่า การเป็นแม่เปรียบเสมือนการค้นพบห้องแห่งความลับในบ้านของคุณเอง ที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน ซึ่งผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำกล่าวนี้ เพราะมีหลายสิ่งที่เปลี่ยน ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนแปลงทางสถานะทางสังคม และชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนจากภายในคือ อารมณ์อันอ่อนโยน จากการเปลี่ยนแปลงของสมองนั้นเอง
จริง ๆ อารมณ์หรือสัญชาตญาณการเป็นแม่ หรือ mother mind มันเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่แม่รู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นกับร่างกายแล้ว เรื่องของอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หากจะเอามันมาเกี่ยวโยงทางวิทยาศาสตร์ละก็ มันก็หนีไม่พ้นเรื่องของสารสื่อประสาทและสมอง เป็นเวลานานเลย ที่นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตพฤติกรรม ความสัมพันธ์ของแม่และลูกเกิดใหม่ (mother-newborn relationship) นักประสาทวิทยา ได้ค้นพบว่า ส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงของสมองแม่ลูกเกิดใหม่ จะมีการเปลี่ยนแปลงของสมองบริเวณ prefrontal cortex ซึ่งเป็นสมองส่วนหน้า และส่วน midbrain, parietal lobe นอกจากนี้ ส่วนใยประสาทจะมีการควบแน่นขึ้นเพื่อให้มีการส่งผ่านของกระแสประสาทได้ดี การทำงานของสมองจะถูกเร้าโดยเฉพาะในส่วนที่ควบคุมอารมณ์ ความเมตตา และปฎิกริยาทางสังคม ซึ่งหากมองลึกลงไปอีก ส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เกิดจากฮอร์โมน ที่ไหลบ่าและเปลี่ยนแปลงไประหว่างการตั้งครรภ์นัยว่าเป็นฮอร์โมนเพื่อเตรียมความพร้อมของการเป็น "Great mom"
นอกจากนี้ เมื่อแรกคลอด สมองส่วนที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลและซึมเศร้าจะเริ่มทำงาน นั้นก็ทำไปตามธรรมชาติที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้คุณแม่มือใหม่ มีสัญชาตญาณในการปกป้องลูกน้อยและระแวดระวังเป็นพิเศษ มันก็เหมือนกับเวลาเรามีความวิตกกังวลอ่อน ๆ เวลาใกล้สอบหนะแหละ เราต้องลุกขึ้นมาอ่านหนังสือ แม้ว่ามันจะดึกดื่นก็ตาม เพื่อเอาตัวรอดจากการสอบ คุณแม่ก็จะมีความวิตกกังวลเพื่อปกป้องลูกน้อยที่ยังปกป้องตัวเองไม่ได้ ซึ่งในแม่มือใหม่บางราย ก็ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้เลย อุบัติการณ์ของโรคซึมเศร้าหลังคลอด (post partum depression) จึงเพิ่มขึ้นมาก
สมองส่วน prefrontal cortex ที่ถูกกระตุ้นเป็นสมองส่วนที่มีผลมากเกี่ยวกับการย้ำคิดย้ำทำ คุณแม่มือใหม่จึงคอยวนเวียน ล้างมือ check ผ้าอ้อม และเฝ้าดูลูกน้อยอยู่ไม่ห่าง
จากการศึกษาด้วย functional neuro-imaging จากทีมจาก University College London ชี้ให้เห็นสมองส่วนที่ถูกกระตุ้นในภาวะของความเป็นแม่ และ คนที่ตกหลุมรัก ก็พบได้ว่า มันเป็นสมองส่วนเดียวกัน จนถึงทำให้บางคนที่มี romantic love ถึงขั้นลืมแม่ตัวเองเลย
สมองอีกส่วนที่มีรูปร่างเหมือนอัลมอล ที่เรียกว่า amygdala ซึ่งทำหน้าที่ในการเก็บความทรงจำและขับเคลื่อนอารมณ์เพื่อตอบสนองต่อความซึมเศร้า และความเครียดก็มีการกระตุ้นด้วย ส่วนนี้จะทำหน้าที่ในการกำหนดอารมณ์ของแม่ที่มีต่อทารก และในทางกลับกัน amygdala ของทารกก็จะเป็นตัวกำหนดอารมณ์ เสียงร้อง หน้าตา ที่มีความวิตกกังวล เจ็บปวด หัวเราะร่าเริง ส่งความรู้สึกผ่านทางหน้าตา ทางกาย ไปสู่แม่ด้วย มันเป็นการส่งผ่านการทำงานของสมองรูปอัลมอล ผ่านสารสื่อประสาทโดยมีร่างกายและท่าทางของร่างกายเป็นตัวกลางนั้นเอง
การส่งผ่านของสารสื่อประสาทและท่าทางต่อกัน (interaction) มันทำให้เซลล์ประสาทหลายล้านตัวในสมองเกิดการกระตุ้นซึ่งกันและกัน เมื่อลูกมีความสุข แม่ก็มีความสุข เมื่อลูกมีความทุกข์ แม่ก็มีความทุกข์ เมื่อมีการกระตุ้นซึ่งกันและกัน จะมีการส่งผ่านการกระตุ้นไปยังสมองส่วนที่มีการให้รางวัลแห่งความสุข (brain reward system) ซึ่งอุดมไปด้วยฮอร์โมนแห่งความสุข และมันก็เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นกับสมองส่วนที่เกี่ยวกับความทรงจำเสียด้วย
เชื่อไหมว่า แม่ของคุณ จะไม่มีวันลืมวินาทีที่เห็นหน้าและรอยยิ้มของคุณเลย
ทำไม จึงเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น มันเป็นเรื่องของธรรมชาติสร้างสรรค์สิ่งที่งดงามขึ้น ซึ่งมันได้รับการปรุงแต่งและขัดให้เนียนมานับล้าน ๆ ปีเลย
บอกรักแม่นะครับ เพราะมันเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทรงคุณค่าของชีวิต และเป็นความงดงามของธรรมชาติ
Ref.
1. http://www.medical-neurosciences.de/fileadmin/user_upload/microsites/studiengaenge/neurosciences/cns-2014-i7i2.pdf