D1
วันนี้วันพุธ ได้ตื่นไปวิ่งเห็นร้านกาแฟร้านหนึ่งชื่อ stoic cafe มีเมนูอาหารต้ังอยู่หน้าร้าน เป็นขนมกินง่าย ๆ มีครีมและสตอเบอรี่สีสด ร้านเปิดตั้งแต่เช้า แต่ยังไม่มีใครเข้า
ชื่อร้าน Stoic ไม่รู้ว่าเจ้าของร้านชื่นชอบปรัชญาแขนงนี้เป็นพิเศษ หรือ ตั้งชื่อเพราะอยากให้ cafe นี้นั่งแล้วดื่มด่ำกับการดำเนินชีวิตแบบเพ่งพินิจ หรือ แค่ชื่อฟังแล้วมันเก๋ดี ก็ไม่ทราบ
Stoicism หรือปรัชญาสโตอิก เป็นแขนงของปรัชญา ที่มุ่งเน้นไปที่ ความเข้าใจตนเอง การงาน การใช้ชีวิต การเกิดมา และการมีความสุข
ในความยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จทางตำแหน่ง ชีวิต หรือหน้าที่การงาน จะมีคำถามผุดมาในหัวเสมอ เรามีชีวิตที่มีความสุขแล้วหรือ นั่นเป็นคำถามที่เป็นเชิงปรัชญา บางคนคิดว่า ถามทำไม มันปวดหัว แต่คำถามนี้ ทำให้การดำรงค์อยู่มีความหมาย ไม่ว่าเราจะก้าวสู่จุดสูงสุดทางโลกเพียงใด แต่มันไม่ได้เป็นตัววัดว่า เราได้ถึงจุดมุ่งหมายในการดำรงค์อยู่นั้นแล้ว
ก็ไม่น่าแปลกใจที่ การเดินทางภายใจจิตใจภายใต้การนำของปรัชญาสโตอิกจะเป็นเทียนส่องทางของผู้นำแขนงต่างๆ ระดับโลก กษัตริย์ ประธานาธิบดี ศิลปิน นักคิด นักเขียน และผู้ประกอบการ เช่น มาร์คัส ออเรลิอุส. เฟรดเดอริกมหาราช, มงแตญ, จอร์จ วอชิงตัน, โธมัส เจฟเฟอร์สัน, อดัม สมิธ, จอห์น สจ๊วต มิลล์, ธีโอดอร์ รูสเวลต์, นายพลเจมส์ แมตทิส ล้วนได้รับอิทธิพลการตรึกตรงครุ่นคิดอันแหลมคม มาจากปรัชญาสโตอิกทั้งสิ้น
จุดกำเนิดสโตอิก: แนวคิดที่เปลี่ยนแปลงโลกมักเกิดจากเรื่องราวธรรมดา
ประมาณ 304 ปีก่อนคริสตกาล พ่อค้าชื่อ Seno ประสบเรืออับปางระหว่างการเดินทางเพื่อค้าขาย เขาสูญเสียเกือบทุกอย่าง เมื่อเดินทางไปเอเธนส์ เขาได้รับการแนะนำให้รู้จักกับปรัชญาโดยนักปรัชญา Cynic Crates และนักปรัชญาชาว Megarian Stilpo ซึ่งเปลี่ยนชีวิตของเขา ดังที่นักปราชญ์พูดติดตลกในเวลาต่อมาว่า
"ฉันเดินทางอย่างรุ่งเรืองเมื่อฉันประสบเรืออับปาง"
นั่นเป็นคำพูดง่ายๆ ให้ฉุกคิดเมื่อชีวิตเจออุปสรรค มันหน่อรากให้เราเติบโต มันคือแรงผลักให้โลกเคลื่อนไปข้างหน้าของทุกสรรพสิ่ง มันคือความจริงที่พบทุกเมื้อเชื่อวัน แจ่หากเราไม่ได้คิด เราก็แค่หลงลืมมันไป
สิ่งเหล่านี้ มันคือวิถีชีวิตของพวกเราหรือ?
เมื่อการค้นพบความหมายได้จากสิ่งที่เรียบง่ายและประสบทุกเมื่อเชื่อวัน ผู้ที่ตรึกตรองเท่านั้นจะเข้าใจความเป็นไปและรู้ซึ้งได้
การเข้าใจโลก คือ การเข้าใจตนเอง การเข้าใจตนเอง คือการวางรากฐานให้ใช้ชีวิตอย่างมั่นคง
รากฐานหรือแก่นของ สโตอิด วางอยู่บนอิฐอันแข็งแกร่งทั้งสี่ก้อน ได้แก่
ความกล้าหาญ.
ความพอประมาณ
ความยุติธรรม.
ภูมิปัญญา.
ความกล้าหาญ (Courage)- more than being Brave
ความกล้าหาญ ซึ่งคือความสามารถในการควบคุมจิตใจไม่ให้กลัวกับสิ่งที่อันตรายหรือสถานะการที่อาจเป็นอันตราย หรือ courage อาจหมายรวมถึงการมีจิตใจเข้มแข็งมั่นคง นั้นก็คือความสามารถที่สามารถควบคุมจิตใจให้มั่นคงเข้มแข็งกับสถานะการหรือเหตุการณ์ที่ไม่ดีหรือเลวร้าย
ความกล้าหาญกินความมากกว่าความกล้าได้กล้าเสีย คือสิ่งที่ทำให้คุณเดินหน้าไปสู้ชีวิตอย่างท้าทาย จงกล้าที่จะเปลี่ยน ทั้งสิ่งที่เป็นปัจจัยภายนอก ที่เริ่มจากความกล้าหาญภายใจ ในชีวิตจริง เราจะเผชิญเรื่องให้ต้องตัดสินใจตลอดเวลา แม้สิ่งที่เราคิดว่าดี บางครั้งเรากลับเขลาขาดเพราะกลัวการเปลี่ยนแปลง นั้นที่อยู่นิ่ง มีแต่ตกตะกอน จงเป็นน้ำตกที่ไหลหลาก มันจะนำพาชีวิตไปสู่สิ่งใหม่ ไม่ว่าสิ่งใหม่นั้น จะเป็นไปดังใจหวังหรือไม่ แต่การได้เปลี่ยนผ่านด้วยความกล้า นั่นคือการประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว
ความพอประมาณและความสุขุม (Temperance) - more than moderation and sobriety เราต่างถูกแรงผลักดันการดำเนินชีวิตจากแรงกระตุ้นและขับเคลื่อนภายใน บางครั้งเราไม่สามารถยับยั้งตัวเองได้ มนุษย์นั้นแม้ว่าจะมีการพัฒนาสมองให้รู้คิด รู้ตรึกตรองตัวเอง แต่นั่นก็ไม่อาจเอาชนะแรงกระตุ้นทางธรรมชาติได้หรอก เราจึงอยากได้ อยากมี อยากแข่งขัน นำไปสู่ความไม่รู้จักพอ เราไม่ได้บอกให้อยู่อย่างยากจน หรือยึดติดกับที่เดิม แต่ความพอประมาณ คือการฝึกให้มีสติ ตรึกตรองและชั่งใจ
ความยุติธรรม (Justice) - doing what’s right จงทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าความถูกต้องคือสิ่งที่คุณอาจทึกทักนึกคิด แต่มาตรฐาน ค่านิยม ของความเป็นสังคมมนุษย์จะมีมาตรวัดอยู่ระดับนึง การทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นอกจากคุณไม่ซื่อสัตย์ต่อเพื่อมนุษย์และโลกแล้ว คุณก็ยังไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเองด้วย การทรยศหักหลังต่อตัวเองและเพื่อนร่วมโลก คือการฝึกใจให้จมดิ่งไปสู่ความดำมืดและความชั่ว
ภูมิปัญญา (Wisdom)…ภูมิปัญญา เป็นมากกว่าความจริงและความเข้าใจ? เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น เป็นความรู้ที่หาไม่ได้เพียงเพราะอ่าน เพียงเพราะฟัง เพียงเพราะเขียน แต่มันเกิดจากการประมวณความรู้มาตรึกตรอง และปฎิบัติ และผนวกเข้ากับการดำเนินชีวิตของท่านเอง เข้าใจอย่างลึกซึ้ง มันเป็นแบบนี้เอง สิ่งเหล่านี้ล้วนคือการเข้าใจการเป็นไปของโลกอย่างแท้จริง ตามเป้าหมายของปรัชญา
/ อจ สุรัตน์