ในแต่ละวัน เราฟังคนอื่นบ่นมามากแค่ไหน บางคนบอกว่ามาก บางคนบอกว่า ชั้นสิ เป็นคนที่บ่นมากกว่า
มันได้ระบาย ความอัดอั้นตันใจ บ่นแล้วสมองโล่ง ว่างั้น
มีครั้งนึง คนขี้บ่นบอกว่า เมื่อบ่นบางอย่างออกไป สมอง ความคิด ความรู้สึกน่าจะโล่ง ส่วนคนที่รับฟัง จะเบื่อหรือจะตั้งใจฟัง ก็เป็นเรื่องของคนฟัง เหมือนการเขวี้ยงขยะลงในถังขยะ ที่เราก็ไม่ได้สนใจว่า คนจะเอาขยะไปทิ้งที่ไหนต่อ สบายใจดี
แต่การบ่นมันดีต่อใจจริงเหรอ?
ต้องบอกว่า มันเป็นความคิดที่ผิด
การบ่นที่บอกว่า คือการระบายนั้น จริง ๆ แล้ว มันคือดาบสองคม
“การบ่นเหมือนการระบาย แต่บ่อยครั้งมันยิ่งทำให้เราหงุดหงิดมากขึ้น” ดร.เบิร์นสตีน ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง กล่าว และมีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันเรื่องนี้
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cerebral Cortex แสดงให้เห็นว่า **การบ่นซ้ำ ๆ จะกระตุ้นและเสริมสร้างเส้นทางประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับความคิดเชิงลบ นั่นหมายความว่า ยิ่งเราบ่นมากเท่าไร สมองก็จะยิ่ง "คุ้นชิน" กับรูปแบบความคิดแบบนั้นมากขึ้น เป็นเหมือนการ “ปูทาง” ให้สมองเลือกความคิดในแง่ร้ายได้ง่ายและบ่อยขึ้น
หลักการนี้คล้ายกับการฝึกกล้ามเนื้อ หากเราออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนใดซ้ำ ๆ กล้ามเนื้อส่วนนั้นก็จะแข็งแรงขึ้น ในทางเดียวกัน **การใช้เส้นทางประสาทบางเส้นทางซ้ำ ๆ จะทำให้มันถูกเสริมสร้างและกลายเป็นอัตโนมัติ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Neuroplasticity หรือ ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงของสมอง
การหมุนวนอยู่กับปัญหาเดิม ๆ แบบไม่หาทางออกหรือไม่ยอมรับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ มันจะกลายเป็น "rumination" หรือ **การครุ่นคิดซ้ำ ๆ ที่เป็นอันตรายทางจิตใจ**
นักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า “toxic venting” คือการระบายที่ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น แต่กลับตอกย้ำความรู้สึกแย่ เช่น
- ยิ่งพูดยิ่งโกรธ
- ยิ่งเล่า ยิ่งรู้สึกเป็นเหยื่อ
- ยิ่งแชร์ ยิ่งเสพติดการได้รับความเห็นใจ
แล้วเราจะทำอย่างไร ไม่ให้สมองเราพังจากการบ่น ?
ดร.เจฟฟรีย์ เบิร์นสตีน นักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปี เสนอวิธีแก้ไขง่าย ๆ แต่ทรงพลัง นั่นคือ การถามตัวเอง (หรือถามลูก) ว่า “เมื่อเทียบกับอะไร?”
น่าสนใจไหม คำถามสั้น ๆ แค่นี้ เปลี่ยนความคิดได้เหรอ
การถามว่า “เมื่อเทียบกับอะไร?” เป็นการกระตุ้นให้เกิด การมองใหม่ (Cognitive Reappraisal) ซึ่งเป็นเทคนิคทางจิตวิทยา ที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าช่วยคุมอารมณ์ได้ เพราะเป็นการบอกว่า มันมีมุมมองเปรียบเทียบ เปิดใจให้กว้าง ความทุกข์เรา มันปะติ๋วนะ
ตัวอย่าง
เด็กชายที่บ่นเรื่องอาหารกลางวัน: เมื่อแม่ถามเขาว่า “เมื่อเทียบกับอะไร?” เด็กชายเริ่มคิด และตอบว่า “ก็มีเด็กบางคนที่ไม่มีอาหารกลางวันกินเลย” แม้เขาจะยังไม่ชอบแซนด์วิชไก่งวง แต่ความรู้สึกขอบคุณที่เกิดขึ้นช่วยลดความหงุดหงิดลงได้
เด็ก ๆ เรียนรู้ผ่านการสังเกตพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory)
“พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่เรียนรู้ได้จากการสังเกตและเลียนแบบ”
ดังนั้น หากผู้ใหญ่สามารถฝึกตั้งคำถาม “เมื่อเทียบกับอะไร?” แทนการบ่นให้เป็นนิสัย เด็ก ๆ ก็จะซึมซับวิธีคิดที่ยืดหยุ่นและสร้างสรรค์นี้เช่นกัน
ลองดูคำถามกับผู้ใหญ่กัน
ผู้ใหญ่ที่กำลังเผชิญกับความผิดหวังในอาชีพ ความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ความวิตกเรื่องอายุ ก็สามารถใช้เครื่องมือนี้ได้เช่นกัน
เช่น ชายคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อถามตัวเองว่า “เมื่อเทียบกับอะไร?” เขาพบว่ากำลังเปรียบเทียบกับเพื่อนที่เลือกเส้นทางชีวิตต่างออกไป ซึ่งไม่ได้ดีกว่าเสมอไป นั่นสิ ความสุขมันก็ไม่ได้วัดจากการที่สูญเสีย ณ.เวลานั้น
เห็นไหม คือ ก็ไม่ได้ ว่าหุบปากห้ามบ่นเลย แต่หากมันบ่น จนเป็นนิสัยขี้บ่น มันยิ่งแย่ต่อสมองและจิตใจ ของคนบ่นเอง
อจ สุรัตน์