"คำพูดที่เศร้าที่สุดในโลกอาจเป็นเพียงคำว่า ‘มันอาจจะเป็นไปได้’" — John Greenleaf Whittier
ความเสียใจคือประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ แต่กลับเป็นสิ่งที่เราเข้าใจผิดอยู่เสมอ หลายคนคิดว่าความเสียใจเกิดจากอดีต—จากความผิดพลาด โอกาสที่พลาดไป หรือความสัมพันธ์ที่จบลง ทว่าในความเป็นจริง น้ำหนักที่แท้จริงของความเสียใจ อาจไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แต่อยู่ที่ “อนาคต” ที่เราคิดว่าเราได้สูญเสียไปต่างหาก
แม้ความเสียใจเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้และเป็นธรรมชาติของสิ่งมีขีวิต แต่บางครั้ง มันกลับดึงเราให้ตกหลุมลึกที่หาทางขึ้นไม่เจอ และวิ่งอยู่ในวังวนของความเสียใจ ซึ่งอาจทำให้เสียช่วงเวลาของชีวิตเราไปอย่างน่าเสียดาย เราจึงควรเรียนรู้ จิตวิทยาแห่งความเสียใจ ไว้เป็นเกราะป้องกันตัวเองและสร้างเกราะให้คนที่เรารัก
จิตวิทยาของความเสียใจ: อารมณ์ที่มองไปข้างหน้า
แม้โดยผิวเผิน ความเสียใจจะดูเหมือนเป็นอารมณ์ที่หวนคิดถึงอดีต แต่งานวิจัยทางจิตวิทยากลับพบว่า ความเสียใจนั้นมีลักษณะ “มองไปข้างหน้า”
Neal Roese นักจิตวิทยา ที่มีงานเรื่องความเสียใจ >> wiki https://en.wikipedia.org/wiki/Neal_Roese
จากการศึกษาโดย Neal Roese นักจิตวิทยาชั้นนำในปี 2005 ชี้ให้เห็นว่า ความเสียใจไม่ได้เกิดจากการคิดวนเวียนกับอดีตเท่านั้น แต่เป็นการ “จินตนาการว่าอดีตควรจะนำไปสู่ปัจจุบันหรืออนาคตที่ดีกว่านี้” กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันคือการคิดแบบ “ถ้าตอนนั้นฉัน…” ซึ่งเป็นการสร้างภาพอนาคตทางเลือกที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง
ข้อมูลจาก สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) ยังระบุว่า ความเสียใจมักจะมาพร้อมกับความวิตกกังวล ความกลัว หรือความเศร้า ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์ในอดีตโดยตรง แต่เกิดจากสิ่งที่เราคิดว่า “มันน่าจะเกิดขึ้นได้” ในอนาคตต่างหาก
กับดักของความคิด: การหลงไปกับอนาคตที่ไม่มีอยู่จริง
จิตวิทยาการรู้คิด (Cognitive Psychology) บอกเราว่า ความเสียใจรุนแรงขึ้นเพราะกระบวนการคิดบางแบบ เช่น
การคิดแบบหายนะ (Catastrophizing): มองผลลัพธ์แย่ๆ ว่าร้ายแรงเกินจริง
การอุดมคติ (Idealization): มองอนาคตที่ไม่ได้เกิดขึ้นว่า “สมบูรณ์แบบ”
หนังสือ mode สำหรับการคิดเร็วและช้า โดย Daniel Kahneman
ในหนังสือ Thinking, Fast and Slow นักเศรษฐศาสตร์และนักจิตวิทยา Daniel Kahneman อธิบายว่า มนุษย์มีแนวโน้มจะ “กลัวการสูญเสีย” มากกว่าชื่นชมสิ่งที่ได้มา เราจึงรู้สึกเจ็บปวดกับ “อนาคตที่ไม่เกิดขึ้น” มากกว่าการยอมรับปัจจุบันที่มี
เช่น คนที่เสียใจที่ไม่เลือกเส้นทางอาชีพหนึ่งในอดีต จริงๆ แล้วเขาไม่ได้เสียใจแค่เรื่องการตัดสินใจ แต่กำลังโศกเศร้ากับ “ตัวตนที่เขาเชื่อว่าเขาน่าจะได้เป็น” ซึ่งล้วนมาจากจินตนาการทั้งสิ้น
เรื่องเล่าที่เตือนใจ: ความเสียใจจากอนาคตที่ไม่มีอยู่จริง
ลองฟังเรื่องของ เอล นักดนตรีผู้มีพรสวรรค์ เธอเคยได้รับโอกาสไปเรียนต่อเมืองนอก แต่เธอปฏิเสธไป 20 ปีผ่านไป เธอไม่ได้เสียใจกับใบสมัครที่ไม่ได้ส่ง หรือเครื่องบินที่ไม่ได้ขึ้น แต่เสียใจกับ “ตัวเองที่น่าจะเป็น” — ศิลปินชื่อดัง ผู้เดินทางไปทั่วโลก
หรือเรื่องของ มาร์ก ผู้เลิกกับคนรักเพราะกลัวการผูกมัด แม้วันนี้เขาจะแต่งงานมีความสุขแล้ว แต่บางครั้งก็ยังรู้สึกเสียใจ ไม่ใช่เพราะอยากย้อนเวลากลับไป แต่เพราะเขาสงสัยว่า “ชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้าเลือกอีกทางหนึ่ง”
คำกล่าวของ Steve Jobs ก็เตือนสติเราไว้ว่า:
"เวลาของคุณมีจำกัด อย่าใช้มันไปกับการใช้ชีวิตตามแบบของคนอื่น อย่าติดอยู่กับกรอบความคิดที่ไม่ได้เป็นของคุณ"
ความเสียใจหลายอย่างไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เราต้องการจริงๆ แต่มาจากสิ่งที่สังคมหรือคนรอบตัวคาดหวังให้เราเป็น
แนวโน้มของความเสียใจ: ผู้คนเสียใจกับอะไรที่สุด
งานวิจัยของ Thomas Gilovich และ Victoria Medvec แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล พบว่า ผู้คนมักเสียใจกับ “สิ่งที่ไม่ได้ทำ” มากกว่าสิ่งที่ทำไปแล้ว
เหตุผลก็คือ การไม่ลงมือทำอะไรเลย เปิดโอกาสให้เราคิดไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดว่า “มันน่าจะออกมาดีแค่ไหน” ขณะที่สิ่งที่เราทำไปแล้ว มีผลลัพธ์ชัดเจนให้เห็น
งานวิจัยยังเชื่อมโยงความเสียใจกับปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ความเครียดเรื้อรัง และการตัดสินใจที่ไม่ดีในอนาคต มันยังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การปิดเรื่องราวชีวิต” (Narrative Foreclosure) — การที่คนๆ หนึ่งเชื่อว่า ชีวิตของเขาจบแล้ว เปลี่ยนอะไรไม่ได้อีกต่อไป
วงจรความเสียใจ: จะหลุดพ้นได้อย่างไร
แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ความเสียใจฉุดรั้งชีวิตไว้?
1. คิดกลับอีกด้าน (Counter-Counterfactual Thinking):
ไม่ใช่แค่คิดว่า “มันน่าจะดีกว่านี้” แต่ลองคิดว่า “มันอาจจะแย่กว่านี้ก็ได้” วิธีนี้ช่วยฝึกใจให้รู้สึกขอบคุณกับปัจจุบัน
2. ถามตัวเองว่าเสียใจเพราะอะไร:
เสียใจเพราะเราอยากทำจริงๆ หรือเพราะใครๆ ก็บอกว่าควรทำ? บ่อยครั้งความเสียใจเกิดจากการไม่เป็นตามความคาดหวังของคนอื่น ไม่ใช่ของตัวเราเอง
3. เปลี่ยนความเสียใจให้เป็นพลัง:
Victor Frankl นักจิตวิทยาและผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกัน เคยกล่าวว่า “เมื่อความทุกข์มีความหมาย มันก็จะไม่ใช่ความทุกข์อีกต่อไป”
เราสามารถใช้ความเสียใจเป็นแรงผลักดันในการสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม
อนาคตไม่ใช่คำตัดสิน
ความเสียใจไม่ใช่แค่เงาสะท้อนของอดีต แต่มันคือภาพสะท้อนของ “อนาคตที่ไม่ได้เกิดขึ้น” แต่แทนที่เราจะปล่อยให้อนาคตที่ไม่เป็นจริงนั้นมาหลอกหลอน เราสามารถเปลี่ยนมันเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างชีวิตใหม่ในวันนี้
ให้ความเสียใจมีความหมาย เป็นแรงผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้านะครับ
-อจ สุรัตน์