“บางครั้งผมก็อายม้วนที่จะพูดถึงหน้าตาของ product ดั้งเดิมที่ล้มไม่เป็นท่า ก่อนที่จะหัวเราะออกมาเสียงดัง เราต่างจำวันนั้นได้”
ในวงการนวัตกรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เล่าไปยิ้มไป ในฐานะผู้ก่อตั้ง ที่เมื่อประสบความสำเร็จ เบื้องหลังจะต้องเต็มไปด้วยรอยแผล แต่ 90% จะไม่มีโอกาสมาพูดแบบนี้ เพราะจะหายไปใน 3 ปี
Eric Ries ผู้เขียน The Lean Startup คัมภีร์แห่งนวัตกรรม กล่าวไว้ว่า
“Pivot คือการเปลี่ยนกลยุทธ์โดยไม่เปลี่ยนวิสัยทัศน์”
นี่คือคำที่ทรงพลัง มุมมองระยะยาว เราไม่ได้เปลี่ยนไป เราเปลี่ยนวิธีไปให้ถึงสิ่งนั้นมากกว่า
Pivot รากของคำมาจากจุดเปลี่ยนสงคราม
คำว่า "Pivot" มีรากมาจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่า จุดศูนย์กลางหรือหมุดที่สิ่งของหมุนอยู่บนนั้น โดยดั้งเดิมใช้ในทางทหาร หมายถึงการเคลื่อนพลไปรอบๆ จุดศูนย์กลางเพื่อเปลี่ยนทิศโดยยังรักษากลยุทธ์หลักไว้ แนวคิดนี้ต่อมาได้ถูกนำมาใช้ในโลกธุรกิจเพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ที่ยังยึดโยงกับวิสัยทัศน์หลัก
หนึ่งในตัวอย่างแรกๆ ของการ Pivot ทางธุรกิจคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ เปลี่ยนสายการผลิตจากรถยนต์มาเป็นรถถังและเครื่องบินภายในเวลาอันสั้น การเปลี่ยนทิศทางนี้ไม่เพียงสนับสนุนการสงครามเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงพลังของการปรับทรัพยากรและจุดโฟกัสเพื่อตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วน
ในโลกธุรกิจยุคใหม่ Pivot กลายเป็นแนวคิดสำคัญในทฤษฎีนวัตกรรม โดยเฉพาะในแนวทาง Lean Startup ที่เน้นความเร็ว การทดลอง และการเรียนรู้จากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
เหตุผลเชิงกลยุทธ์: เมื่อไรและทำไมต้อง Pivot
รายงานจาก CB Insights ที่วิเคราะห์ปัจจัยล้มเหลวของสตาร์ทอัป 111 ราย พบว่า 35% ล้มเหลวเพราะ “ไม่มีความต้องการในตลาด” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การรู้ว่าควร Pivot เมื่อใด ไม่ใช่แค่กลยุทธ์ แต่คือ “ความอยู่รอด”
Pivot ที่เกิดขึ้นอย่างถูกเวลา มักเป็นผลจากการรับฟังลูกค้า การเปลี่ยนแปลงของตลาด หรือเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนเกม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Netflix ซึ่งเริ่มจากธุรกิจเช่าดีวีดีทางไปรษณีย์ และ Pivot มาสู่การสตรีมมิ่งโดยล่วงหน้าก่อนตลาดจะเปลี่ยน จนกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม
Innovation Pivot คือการใช้จุดแขนงขององค์กรสร้างสิ่งใหม่อย่างแท้จริง จนบางครั้งสร้างอุตสาหกรรมใหม่หรือเปลี่ยนตลาดไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่เพียงเพื่อเอาตัวรอด แต่เพื่อ "วิวัฒน์"
“ผมเคยคุยกับ startup รายหนึ่ง เค้าประสบความสำเร็จในวันนี้ วันที่เป็นปีที่ 3 ของการก่อตั้ง startup และเค้าก็บอกว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เค้าวนปรับเปลี่ยนหน้าตาผลิตภัณฑ์ไปเกือบร้อยครั้ง”
สติปัญญาทางอารมณ์ในช่วง Pivot
Pivot ไม่ใช่แค่เรื่องของกลยุทธ์ แต่เกี่ยวข้องกับ “อารมณ์” อย่างลึกซึ้ง ต้องอาศัยความถ่อมตนเพื่อยอมรับว่าสิ่งที่ทำอยู่อาจไม่เวิร์ก และความกล้าหาญที่จะเริ่มทดลองใหม่
Adam Grant นักจิตวิทยาองค์กรกล่าวไว้ว่า
“สัญลักษณ์ของคนเปิดใจ คือการไม่เอาความคิดของตัวเองไปผูกกับตัวตนของเรา”
องค์กรที่มีความถ่อมตนทางปัญญา มัก Pivot ได้ก่อนที่วิกฤตจะมาถึง และถือเป็น “ความคล่องตัวทางอารมณ์” ที่สำคัญพอๆ กับความฉลาดทางตลาด
บทบาทของข้อมูลและ Feedback
Pivot ยุคใหม่ขับเคลื่อนด้วย “ข้อมูล” และ “ลูกค้า” ตามแนวทาง Lean Startup ที่เน้น MVP (Minimum Viable Product) และการเรียนรู้จากผู้ใช้จริง
Spotify คือกรณีศึกษาในเรื่องนี้ โดยมีการ Pivot ย่อย (micro-pivots) อย่างต่อเนื่อง ทั้งใน UI และอัลกอริธึม เพื่อยกระดับประสบการณ์โดยไม่แตะโครงสร้างหลัก
รายงานจาก McKinsey ระบุว่า บริษัทที่ใช้ Customer Analytics อย่างจริงจังมีโอกาสชนะคู่แข่งด้านการหาลูกค้าใหม่มากถึง 23 เท่า ยืนยันว่า “การฟังตลาด” สำคัญกว่าการดันทุรังกับวิสัยทัศน์ที่หมดอายุ
Pivot กระบวนการที่เล่นกับอารมณ์และความหลงรัก product ตัวเอง
ทั้งที่ทุกคนที่ทำนวัตกรรมรู้ว่า ต้องเปลี่ยนแปลง อาจไม่มาก หรืออาจจะมากจนต้องทุบทิ้งผลิตภัณฑ์สุดรักของตัวเอง กระบวนการ Pivot กลายเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญที่สุดของผู้นำ
บางครั้งการ Pivot มันเป็นการทำลายความฝัน หรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ตัวเองรัก แต่นั่นมันคือทางรอด ซึ่งผู้ก่อต้ังต้องเลือกเอาว่าจะรักผลิตภัณฑ์ตัวเองที่ไม่มีอนาคต หรือ รักลูกค้า คนที่ใช้นวัตกรรมของคุณกันแน่